คุณแสลงคำคิดว่าถ้าเพื่อนที่เข้าประชุมรู้จักประหยัดคำพูดมากกว่านี้ก็จะดี
คุณแสลงคำนึกถึงเรื่องเมื่อวาน
การประชุมเลือกพรีเซ็นเตอร์โฆษณาให้ลูกค้าของบริษัทเริ่มตอนบ่ายโมงตรง แต่กว่าแต่ละคนจะแสดงความเห็นจบ ก็ปาเข้าไปกว่าเจ็ดชั่วโมง เจ็ดชั่วโมง! มันพูดอะไรกันนักหนาวะ แกสบถในใจ นัดแฟนตอนหกโมง แต่กว่าพวกมันจะพล่ามจบ ล่อเข้าไปคนละชั่วโมง ยังกับตายอดตายอยากมาจากไหน ความคิดดีๆกันทั้งนั้น โฆษณาก็มีแค่สองชิ้น เถียงกันยังกับโลกจะแตก กาแฟก็กินเข้าไปสิ กินกันอยู่นั่น แค่ยกถ้วยกาแฟขึ้นดื่ม วางมาดแบนายแบบนางแบบโฆษณา ก็ห้าวิแล้ว กระดกลูกกระเดือกอีกคนละสองวิ ถือแก้วค้างอีกคนละสามวิ ล้วงผ้าเช็ดหน้าอีกสองวิ เช็ดปากอีกหนึ่งวิ แถมยังกินน้ำตามเข้าไปอีก ถ้ามันขม ก็ไม่ต้องกระแดะไปกินมันสิ กว่าจะถกเสร็จ แกเลยไปหาแฟนสายเป็นชั่วโมง โดนด่าอีก ชวยจริงๆ คุณแสลงคำคิด แต่วันนี้จะไม่เหมือนเมื่อวานอีกแล้ว
เขาลองนึกดูว่า ถ้าแต่ละคนพูดให้สั้นลง ต่อให้มีงานโฆษณาร้อยชิ้น ก็ประชุมจบในหนึ่งชั่วโมง เช่น แทนที่ไอ้สมชายมันจะพูดว่า
“ผมว่าเพื่อให้เข้ากับคอนเซ็ปท์มือถือของคนรุ่นใหม่ ผมว่า เราควรจะใช้พรีเซ็นเตอร์เป็นวัยรุ่น แบบน้องชาช่า ผมว่าเธอกำลังมาแรงทีเดียว แทนที่จะใช้น้องนิโคมแบบที่คุณดาราณีเสนอ ผมว่าเธอแก่เกินไปแล้ว ยิ้มทีงี้ หนังตาย่นเชียว”
มันควรจะพูดว่า “ชาช่าดี วัยรุ่น” แล้วก็จบ ไอ้ห่า มันจะต้องเรียกตัวเองว่าผมทำไม ก็รู้กันอยู่แล้วว่ามันเป็นผู้ชาย ส่วนการเสนอน้องชาช่า ก็บอกอยู่แล้วว่าเอ็งไม่เอาน้องนิโคม ถ้าจะเอานิโคม แล้วจะเสนอชาช่าหาพระแสงทำไม แล้วเรื่องอะไรที่ต้องไปกระแนะกระแหนเขาด้วย เสียเวลา ไอ้ที่บอกว่าแก่ มันหมายถึงใครวะ คุณดาราณีหรือน้องนิโคม เพราะประโยคของมันหมายความได้ทั้งสองอย่าง ถ้าไม่เคลียร์ก็อย่าพูด แต่ที่แน่ๆคือ ถ้าพูดอย่างที่แกคิด ก็ใช้เวลาแค่คนละสองวินาทีเท่านั้น คุณแสลงคำยกนาฬิกาขึ้นมาจับเวลา แล้วลองพูด
ส่วนไอ้สมหมายก็พล่ามพอกัน คุณแสลงคำคิดต่อ
“เอ่อ คือ ผมไม่เห็นด้วยกับคุณสมชาย ผมว่าเราควรใช้ น้องเบบี้มากกว่า เพราะบริษัทมือถือที่เขาจ้างเรา เขาต้องการเจาะกลุ่มวัยรุ่นจริงๆ เพราะฉะนั้น เราต้องเน้นคนที่อายุแบบว่าเด็กเลย สิบสามปีขึ้นไป ที่คุณแต่งอักษรบอกว่าน้องเบบี้หน้าอ่อนเกินไป เดี๋ยวคนดูจะหาว่าเรากำลังหลอกใช้เด็กเป็นเครื่องมือ ผมว่าไม่เห็นต้องไปแคร์เลย ใครๆเขาก็ทำกัน คุณแต่งอักษรพูดแล้วก็ไม่มาประชุม แกเป็นแบบนี้ทุกที ผมขออนุญาตยกตัวอย่างแล้วกัน แบบสำลียี่ห้อเด็กตกนรกไงครับ ที่เด็กตายไปแล้วตกนรก เพราะไม่ได้ใช้สำลีของแบรนด์นี้… ”
ไอ้ชิบหาย คุณแสลงคำสบถอีกรอบ ก็พูดง่ายแค่ว่า “น้องเบบี้ดีกว่า หน้าวัยรุ่น อย่าแคร์วิจารณ์” ก็จบแล้ว จะต้องไปชักแม่น้ำทำไม มันก็ต้องบริษัทมือถือที่เขาจ้างเราอยู่แล้ว ถ้าไม่ใช่ แล้วเอ็งจะทำให้เขาเรอะ ส่วนคำว่า สิบสามปีขึ้นไป ก็ไม่จำเป็นต้องเอามาขยาย แล้วเด็กบ้านเอ็งอายุแปดสิบหรือไง ส่วนคนอื่นเขาจะเสนอใครมา ก็ไม่ต้องวิจารณ์เขาหรอก เสนอแค่ความคิดตัวเองก็พอ ดีไม่ดี ท่านประธานก็ตัดสินใจเอง แขวะกันไป วิจารณ์กันมา แล้วไอ้ตัวอย่างก็ไม่รู้จะยกทำไม คนทำโฆษณาเขาก็เข้าใจกันอยู่แล้ว ถ้ามันโง่ขนาดนั้น มันจะมาทำงานนี้ได้เรอะ คุณแสลงคำคิด
แต่ไอ้คนที่มันน่ารำคาญที่สุดคือหัวหน้าของแกเอง มันจะพูดทำไม
“ความคิดของคุณแดงก็ดีนะ แต่ของคุณสายใจก็ดี จริงๆแล้วผมว่าของคุณสมชายก็ใช้ได้ แต่ผมชอบไอเดียของคุณสมหมายที่สุด พรุ่งนี้ผมจะเรียกฝรั่งเจ้าของงานมาคุย ผมว่าเขาน่าจะโอเคนะ แล้วคุณแสลงคำล่ะ ไม่มีไอเดียเหรอวันนี้ ดีไหมครับท่านประธาน”
นี่ก็ไร้สาระอีกคน ก็ทำไมไม่ถามท่านประธานก่อน แล้วค่อยสรุปวะ เกิดสรุป แล้วมันไม่เอา ก็ต้องมาสรุปใหม่ เสียเวลาพูดพร่ำเพรื่อ หรือถ้าจะเอาอย่างที่มันคิด ก็ทำไมไม่บอกไปเลยว่า “ความคิดสมหมายดีที่สุด เสนอคนจ้างพรุ่งนี้” เท่านี้ก็จบแล้ว จะต้องบอกคนนั้นดี คนนี้ใช้ได้ หาพระแสงของ้าวไปทำไม แล้วมันจะถามความเห็นเราทำไม ในเมื่อมันสรุปแล้ว ทำไมไม่ถามก่อน แล้วค่อยสรุปทีหลัง
คุณแสลงคำคิดว่า ทำไมคนพวกนี้ใช้คำกันอย่างฟุ่มเฟือยจริงๆ ประชุมไม่กี่เรื่อง มันเสียเวลากับประโยคที่ไม่จำเป็นไปประมาณครึ่งวัน เช่น เอ่อ ผมว่า จริงๆ แล้ว ไม่รวมคิดในใจอีก เผลอพูดอีก ส่วนคำว่า ที่ ซึ่ง อัน ก็ พวกนี้ ก็ใช้กันเข้าไป ยังกับว่ามันช่วยให้สื่อสารดีขึ้น ถึงมี คนก็ยังเข้าใจกันผิดทุกวี่ทุกวัน ไม่ต้องใช้มันก็หมดเรื่อง หรือให้ง่ายกว่าก็คือไม่ต้องมาพูดกันเลยจะดีที่สุด คุณแสลงคำลองมานึกทบทวนคำพูดเยิ่นเย้อของแต่ละคนในห้องประชุมอีกครั้ง ถ้าทุกคนใช้คำพูดให้ประหยัดอย่างที่แกคิด มันจะต้องออกมาเป็นแบบนี้ เจ้านายพูด “เสนอความเห็น” สมชายพูด “ชาช่า” ดาราณีพูด “นิโคม” สมหมายพูด “เบบี้” เจ้านายพูด “ประธานว่าไง” ประธานพูด “เบบี้ดี” เจ้านายพูด “เสนอพรุ่งนี้” ประธานพูด “เลิกประชุม” เท่านี้ก็จบแล้ว ไม่ถึงหกวินาทีเลย เห็นมั้ย ตานี้ต่อให้ประชุมวางแผนกันร้อยงาน ก็ไม่เกินหกร้อยวินาที หรือไม่เกินสิบนาที ต่อให้ประชุมห้าโมงเย็น นัดแฟนห้าโมงครึ่งก็ยังทันถม ยิ่งถ้าตัดเวลาเสริฟกาแฟออกไปด้วยยิ่งดีใหญ่ ทำไมมันไม่รู้จักกินกันมาก่อนหน้านี้วะ คุณแสลงคำว่า
คิดได้แล้ว คุณแสลงคำเริ่มแผนทันที วันนี้ประชุมบ่ายสี่ มีโฆษณาชิ้นเดียว ตอนนี้บ่ายสามครึ่ง โทรหาแฟนก่อน ขอนัดแก้ตัว วางหูเสร็จ อีเมล์ไปหาทุกคนที่จะเข้าประชุม “วันนี้พูดให้สั้น (อย่าใช้คำฟุ่มเฟือย)” แต่แล้วแกก็ลบประโยคท้ายออก แค่บอกว่าพูดให้สั้น พวกมันก็น่าจะรู้กันแล้ว วงเล็บก็ไม่ต้อง จะวงไปทำไม คนสมัยก่อนไม่มีวงเล็บใช้ ยังสื่อกันได้ ดังนั้นจึงเหลือแต่ “วันนี้พูดให้สั้น” สักพัก แกก็อยากให้สั้นกว่านี้ ก็เลยเหลือคำว่า “วันนี้สั้น” แต่มาคิดอีกที เดี๋ยวคนจะเข้าใจผิดว่าหมายถึงช่วงของวัน แกก็แก้กลับมาเป็น “วันนี้พูดให้สั้น” ตามเดิม
จากนั้น แกก็เทกาแฟที่แม่บ้านเตรียมไว้ทิ้ง จนแม่บ้านตกอกตกใจ “ไม่ต้องถาม”
คุณแสลงคำเอ็ด สักพัก แกก็พูดใหม่ให้สั้นลง “เงียบ” พอได้เวลาประชุม แกก็ผลักทุกคนให้นั่งลง เลื่อนเก้าอี้ให้อีก เริ่มเลย คุณแสลงคำว่า ทุกคนหันมามองเขาด้วยสายตาแปลกๆ ระคนขำ วันนี้คงมีไอเดียดีสิท่า ถึงกระตือรือร้นแบบนี้ คุณสมหมายแซว
“โฆษณาประชาสัมพันธ์สยามต้องใช้รูปครุฑ เชิญคุณสมหมายต่อเลย” คุณแสลงคำจบทันที คุณสมหมายทำหน้างงๆ แต่ก็ไม่สงสัยอะไร เพราะไอเดียของคุณแสลงคำก็ไม่เคยได้รับการยอมรับจากเจ้านายอยู่แล้ว ต่อให้พูดมากกว่านี้ก็ไร้ประโยชน์
“คือผมว่า ถ้าเราจะโปรโมทเมืองไทย ผมว่าใช้ช้างเป็นสัญลักษณ์ มันก็น่าเบื่อเกินไป ผมว่ามันน่าจะเป็นอะไรที่เอ่อ มีคุณค่า…” แล้วมันอะไรล่ะ มึงก็บอกมาสิ มึงจะเอาอะไร กุ้ง หอย ปู ปลา ก็ว่ามาสิ คำเดียวพอ พูดมากน่ารำคาญ
คุณแสลงคำเหลืออด “แล้วมันทำไมล่ะ ก็เขายังไม่พูดไม่จบนี่” เจ้านายตวาด คุณแสลงคำเงียบ
“นี่ผมยังไม่ได้ด่าคุณเลยนะ ที่เทกาแฟทิ้งหมด” เจ้านายคิ้วขมวด
“ถ้างั้นผมต่อนะครับ” คุณสมหมายว่า “ผมอยากให้ใช้สัญลักษณ์เป็นรูปนกกระทา แบบขนมไข่นกกระทา เพราะว่า…” พอๆ จบๆ เชิญคุณดาราณีต่อเลย คุณแสลงคำว่า
“นี่คุณเป็นอะไรคุณแสลงคำ เพื่อนยังไม่ได้อธิบายเลย คุณมีมารยาทหน่อยสิ” เจ้านายจ้องคุณแสลงคำตาเขม็ง
ก็นกกระทา ไม่เห็นต้องอธิบายเลย นกกระทาของไทย ใครก็รู้ครับ เชิญคุณดาราณี คุณแสลงคำคะยั้นคะยอ และแล้วการประชุมก็เสร็จก่อนเวลาตามที่คุณแสลงคำหวังไว้ เขายายามควบคุมการพูดของแต่ละคน ราวกับตัวเองเป็นวาทยากรระดับโลกแบบ ฟอน คารายัน แต่ละคนต้องพูดไม่เกินสามนาที แม้แต่ท่านประธานเองยังพูดได้แค่ว่า เอา ไม่เอา คุณแสลงคำรู้ดีว่าทุกคนหงุดหงิด แต่อีกหน่อยก็จะชินไปเอง แรกๆ ก็แบบนี้ มันคงเหมือนอดยาบ้าใหม่ๆ ทนไม่ได้ถ้าไม่ได้พูดคำโน้นคำนี้ แต่อีกไม่เกินสิบวัน เขาคิดในใจ ทุกคนจะมีความสุขกับการใช้คำสั้นๆ ภาษาเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยพอๆ หนังสือราคาแพง ถ้าแต่ละคนใช้คำพูดให้ประหยัดแบบใช้น้ำ ประเทศชาติจะเจริญขนาดไหน พนักงานบริษัทจะมีเวลาเหลือเฟือในการผลิตงานออกมามากมาย ชิ้นงานเยอะขึ้น เงินเดือนเพิ่มตาม ทำไมมันไม่คิดกันบ้าง เวลาที่แกจะไปหาแฟนก็จะเพิ่มขึ้นด้วย แทนที่จะต้องรีบไปรีบกลับแบบทุกวันนี้ คำไหนตัดได้ก็ตัด นี่แกกำลังช่วยบริษัทอยู่แท้ๆ ที่สำคัญคือ แกกำลังทำหน้าที่อันใหญ่หลวงในการปลดปล่อยเพื่อนร่วมงานหน้าโง่ออกจากพันธนาการของภาษาพูด ไม่มีใครเป็นนายภาษาหรอก หลอกตัวเองกันทั้งเพ มีแต่เป็นทาสของมัน นี่คือสัจธรรมที่แกคิดได้ก่อนการประชุม แกนี้แหละคือผู้ปลดปล่อยตัวจริง คิดได้ดั่งนี้แล้ว แกก็อดยิ้มไม่ได้ จนกระทั่งแฟนที่นั่งอยู่ตรงหน้าเข้าใจผิดไปว่าแกกำลังนึกถึงผู้หญิงอื่นอยู่ เลยโดนหยิกไปสามที โอ้ย แกอุทานแค่นี้พอ
ด้วยเจตนาที่ดีที่จะประหยัดเวลาและเพิ่มผลผลิตให้บริษัท คุณแสลงคำก็เลยได้รับไฟเขียวจากประธานให้จัดประชุมครั้งต่อไป ผลที่ได้คือบริษัทได้เวลากลับมาเหลือเฟือ การประชุมเร็วขึ้นจนแทบไม่ต้องประชุมกันอีกต่อไปแล้ว ตามมาด้วยการรื้อห้องประชุมทิ้ง เพราะแค่เดินผ่านกันในที่ทำงานแล้วพูดว่า โมนา ดี ตกลง เท่านั้นก็พอ จากนั้น พนักงานก็มีเวลาทำงานกันมากขึ้น แต่ได้กลับบ้านเร็วขึ้น ไม่มีใครเสียอะไรเลย เวลาก็ได้ งานก็ได้ แกคิด
แต่คุณแสลงคำยังไม่หยุดแค่นั้น แกขยายนโยบายประหยัดคำของแกไปทุกที่ในบริษัท ในโรงอาหาร ห้องครัวแม่บ้าน หน้าที่ทำงาน จนกระทั่งห้องน้ำหญิง ทุกครั้งที่แกเห็นใครซุบซิบนินทาที่โต๊ะกินข้าว แกจะแถเข้าไปทันที ทุกคนจะหยุดพูด แม้กระทั่งร้องเพลงในห้องน้ำ การคิดในใจ ก็เป็นการเสียเวลา แกว่า สักพักแกเริ่มติดเครื่องดักฟังตามโต๊ะต่างๆ ทันทีที่ได้ยินคำที่ไม่จำเป็น แกจะรีบวิ่งมาทันที “เงียบ” แกพูดเหมือนดุเด็ก ไม่นานบริษัทโฆษณาของคุณแสลงคำก็เงียบเกือบเหมือนป่าช้า ไม่ค่อยมีใครอยากพูดกับใคร แม้กระทั่งกับตัวเอง หลายคนที่ประชุมบ่อยๆ เริ่มหลงลืมการออกเสียงและคำพูดบางคำไป และแม้แต่คำที่มนุษย์ใช้บ่อยที่สุดอย่างคำว่า “ไอ้นั่น” พวกเขาก็นึกกันแทบไม่ออก คงมีแต่คุณแสลงคำคนเดียวที่มีความสุขมากที่สุด เพราะแกทำให้ทุกคนประหยัดคำพูดไว้ได้ “ดีที่ไม่ห้ามเขียนด้วย ไม่งั้นคง…” ใครบางคนแอบแต่งประโยคนี้ขึ้นในใจ
ในที่สุด สิ่งที่ทำให้พนักงานที่ยังพอมีสติอยู่ รวมถึงเจ้านายของคุณแสลงคำด้วย กลัวมากที่สุดก็มาถึง คุณแสลงคำแกนำนโยบายใหม่มาใช้ นั่นคือการประหยัดตัวหนังสือ แกติดป้ายประกาศไว้ในลิฟท์ “บรรทัดละห้าคำพอ” และก่อนที่บริษัทจะกลายสภาพเป็นป่าช้าไปมากกว่านี้ เจ้านายของคุณแสลงคำก็เรียกแกไปพบในวันต่อมา คุณแสลงคำเดินไปหาเจ้านายอย่างคนมีความสุข จนอดผูกประโยคทักเลขานุการของเจ้านายไม่ได้ “ข้าว” แค่นี้ก็พอแล้ว แกคิด
เจ้านายคุณแสลงคำหน้าตาอิดโรยไปมาก เหมือนคนอดพูดมาหลายวัน เขาเชิญคุณแสลงคำให้นั่งเก้าอี้ด้วยคำกริยาคำเดียว ไม่เหมือนแต่ก่อนที่จะต้องพูดว่า “เอ้า นั่งสิครับ ตามสบายเลย ไม่ต้องเกรงใจ เก้าอี้นี่ อารท์ เดโคเชียวนะ สั่งตรงมาจากฝรั่งเศส” มาถึงคุณแสลงคำก็เข้าเรื่องทันที “พูดเลยครับ” “ผม…” “เวลามีค่า พูดเร็วเถอะครับ” จริงๆคุณแสลงคำไม่อยากใช้คำลงท้ายว่า ครับ เท่าไร เพราะมันเปลือง ก็รู้กันอยู่ว่าใครตำแหน่งอะไร จะต้องมีลำดับชั้นของภาษาไปทำไม “ขอ…” เจ้านายพูด นั่นปะไร เจ้านายเริ่มเข้าถึงคุณค่าของคำพูดแล้ว เพียงแต่โอเอ้ไปหน่อยเท่านั้น “เข้าเรื่องเถอะครับ” คุณแสลงคำเร่ง และก่อนที่แกจะว่าอะไรไปมากกว่านี้ เจ้านายแกก็ยกป้ายแผ่นหนึ่งขึ้นมาด้วยความอ่อนแรง มีใจความไม่เกินห้าคำอย่างที่คุณแสลงคำกำหนดเอาไว้ว่า “ไล่คุณออก”