เศรษฐกิจโลก เริ่มได้รับผลกระทบจาก “เงินเฟ้อสูงยืดเยื้อ-ดอกเบี้ยขาขึ้น”

เรื่องที่น่าสนใจล่าสุด

SCB CIO ชี้ตัวเลขเศรษฐกิจโลกเริ่มได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อสูงยืดเยื้อ-ดอกเบี้ยขาขึ้น คาดเฟดขึ้นดอกเบี้ยอีก 75 bps ในการประชุมเดือน พ.ย. และ ธ.ค.นี้ แนะลงทุนแบบระมัดระวังเน้นกระจายการลงทุนในสินทรัพย์คุณภาพสูง ชี้เวียดนามยังน่าสนใจสำหรับลงทุนระยะยาว

วันที่ 25 ตุลาคม 2565 ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโสและหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO ) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อสูงยืดเยื้อและดอกเบี้ยขาขึ้น แต่ยังไม่มากพอที่จะทำให้ธนาคารกลางส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ย อ้างอิงจากรายงาน World Economic Outlook

ล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่าเศรษฐกิจภาพรวมของโลกยังมีแนวโน้มได้รับผลกระทบผ่านกำลังซื้อที่ลดลงจากเงินเฟ้อและการตึงตัวของภาคการเงินรวมถึงในหลายประเทศอาจต้องเผชิญภาระหนี้ที่มากขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อภาคการค้าและการลงทุน รวมถึงโมเมนตัมการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะกลาง

ในส่วนของแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ SCB CIO คงมุมมองว่า อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศยังอยู่ในระดับสูง การชะลอลงเป็นไปอย่างช้าๆ เนื่องจากเงินเฟ้อพื้นฐาน(ไม่รวมราคาพลังงานและอาหารสด) ลดลงช้ามากจากปัจจัยอุปทานที่ยังโตไม่ทันปัจจัยอุปสงค์โดยเฉพาะในภาคบริการ ในขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจในหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว แต่ยังไม่มากพอที่จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ย (Slower rate hikes)

นอกจากนั้น ราคาน้ำมันค้าปลีกเฉลี่ยของสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคมที่กลับมาปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ มีแนวโน้มที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในระดับสูงและลงช้า โดย SCB CIO ประเมินว่า เฟดจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย 75 bps ต่อครั้งในการประชุมเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม

ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรยังคงอยู่ในระดับสูง(ราคาพันธบัตรลดลง) จากแรงกดดันของเงินเฟ้อยังคงยืดเยื้อ ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยที่สูงขึ้นทำให้ spread อัตราผลตอบแทนพันธบัตร ยังคงสูงขึ้นโดยเฉพาะกลุ่ม High Yield ในขณะที่ตลาดหุ้นยังรอการประเมินผลของเงินเฟ้อและดอกเบี้ยต่อผลประกอบการไตรมาส 3 และสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบช้าลงของเฟด โดยอัตราเงินเฟ้อถึงแม้จะผ่านจุดสูงสุดแล้ว แต่ยังคงปรับตัวลดลงช้าในปี 2022 นี้ จะทำให้การส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยช้าลงน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงต้นปี 2023 นอกจากนั้น ผลประกอบการและ guidance จากบริษัทต่างๆในช่วงไตรมาส 3 จะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะบอกได้ว่า ตลาดหุ้นที่มีการปรับตัวลงมาค่อนข้างมากจะเป็นกับดักทางมูลค่า (valuation trap) หรือไม่?

สำหรับค่าเงินบาท SCB CIO ประเมินว่าจากสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยช้าลงที่ยังไม่ชัดเจน จะยังทำให้ ดัชนีค่าเงินดอลล่าร์ (DXY) ยังคงอยู่ในระดับสูง และเป็นแรงกดดันหลักต่อค่าเงินในกลุ่ม EMs รวมถึงเงินบาท บวกกับแนวโน้มการยกเลิก Zero Covid Policy ของจีนที่คาดว่าจะถูกเลื่อนออกไปจนถึงไตรมาส 2/2023 จะทำให้การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยถูกเลื่อนออกไปด้วย

“เราจึงปรับการคาดการณ์ค่าเงินบาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2022 เป็น 36-37 บาทต่อดอลลาร์ และ สิ้นปี 2023 เป็น 34-35 บาทต่อดอลลาร์”

ด้านการจัดพอร์ตการลงทุน SCB CIO ยังคงคำแนะนำการลงทุนแบบระมัดระวังและเน้นกระจายการลงทุนในสินทรัพย์คุณภาพสูง ในภาวะเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยและภูมิรัฐศาสตร์สูงขึ้น โดยแนะนำให้มีเงินสดหรือผลิตภัณฑ์ความเสี่ยงต่ำ (มุ่งคุ้มครองเงินต้น) 5-15% ของพอร์ต การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (ราคาลดลง) เป็นโอกาสสำหรับลูกค้าที่ต้องการสร้างกระแสเงินสดในพอร์ต โดยเน้นทยอยสะสมหุ้นกู้คุณภาพดีเพื่อหลีกเลี่ยงการเร่งตัวของ spread ในช่วงความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยสูงขึ้น

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการจัดการความเสี่ยงเงินเฟ้อสูงยืดเยี้อ เรายังคงแนะให้มีสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะน้ำมันในสัดส่วน 5% ของพอร์ต เรามีมุมมองโดยรวมเป็น Neutral ต่อหุ้น โดยทยอยสะสมหุ้นบริษัทที่มีการเติบโตยั่งยื่นและอัตรากำไรสูง ในประเทศที่ได้อานิสงค์จากการเปิดเมืองเปิดประเทศ และการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานของโลก (ตลาดหุ้นไทย อินโดนีเซีย) หรือประเทศที่มีการเติบโตของค่าจ้าง (ตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยเริ่มทยอยสะสมหลังเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยช้าลง)

“เราปรับมุมมองหุ้นเวียดนามเป็น Neutral โดยแม้เศรษฐกิจและผลประกอบการจะยังเติบโตต่อเนื่อง แต่แรงกดดันจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ลดลงเร็ว การลดค่าเงิน การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 100 bps ในช่วงสิ้นปีนี้ ยังคงเป็นแรงกดดันระยะสั้น อย่างไรก็ตาม Valuation ปัจจุบันของตลาดหุ้นเวียดนาม (P/E 10x ; -2sd) อยู่ในระดับค่อนข้างน่าสนใจสำหรับนักลงทุนระยะยาว”